แบบของพินัยกรรมตามกฎหมายเเพ่ง
พินัยกรรม ตามพระราชบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6 ลักษณะ 3
(มาตรา 1646) คือ การแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนหรือในการต่างๆ
โดยแบบของพินัยกรรมนั้นได้จัดออกเป็น 5 แบบ มีดังนี้
1. พินัยกรรมแบบธรรมดา (มาตรา 1656)
- ต้องทำเป็นหนังสือลงวัน เดือน ปี ในขณะที่ทำพินัยกรรม
- ผู้ทำพินัยกรรมลงลายมือชื่อต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนพร้อมกัน
- พยานทั้งสองคนนั้น ต้องลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมไว้ในขณะนั้น
การขูดลบ ตก เติมหรือการแก้ไขเปลี่ยนแปลงพินัยกรรมต้องปฏิบัติตามแบบข้างต้นจึงจะสมบูรณ์
2. พินัยกรรมแบบเขียนเอง (มาตรา 1657)
- ผู้ทำพินัยกรรมต้องเขียนด้วยมือตนเองซึ่งข้อความทั้งหมด วัน เดือน ปี และลายมือชื่อของตน
การขูดลบ ตก เติมหรือการแก้ไขเปลี่ยนแปลงพินัยกรรมต้องทำด้วยมือตนเอง และลงลายมือชื่อกำกับไว้จึงจะสมบูรณ์
3. พินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง (มาตรา 1658)
- ผู้ทำพินัยกรรมต้องไปแจ้งข้อความที่ตนประสงค์จะให้ใส่ไว้ในพินัยกรรมของตนต่อกรมการอำเภอต่อหน้าพยานอีกอย่างน้อยสองคนพร้อมกัน
- กรมการอำเภอต้องจดข้อความดังกล่าวไว้และอ่านข้อความนั้นให้ผู้ทำพินัยกรรมและพยานฟัง
- เมื่อผู้ทำพินัยกรรมและพยานทราบแน่ชัดว่า ข้อความที่กรมการอำเภอจดนั้นถูกต้องให้ผู้ทำพินัยกรรมและพยานลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญ
- กรมการอำเภอต้องลงลายมือชื่อ และลงวัน เดือน ปี ทั้งจดลงไว้ด้วยตนเองเป็นสำคัญว่าพินัยกรรมนั้นได้ทำถูกต้องตามลำดับข้างต้นและประทับตราตำแหน่งไว้เป็นสำคัญ
การขูดลบ ตก เติมหรือการแก้ไขเปลี่ยนแปลงพินัยกรรมนั้น ผู้ทำพินัยกรรม พยาน และกรมการอำเภอต้องลงลายมือชื่อกำกับไว้จึงจะสมบูรณ์
4. พินัยกรรมแบบเอกสารลับ (มาตรา 1660)
- ผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อในพินัยกรรม
- ผู้ทำพินัยกรรมต้องผนึกพินัยกรรมนั้น แล้วลงลายมือชื่อคาบรอยผนึกนั้น
- ผู้ทำพินัยกรรมต้องนำพินัยกรรมที่ผนึกนั้นไปแสดงต่อกรมการอำเภอ และพยานอีกอย่างน้อยสองคน และให้ถ้อยคำต่อบุคคลทั้งหมดเหล่านั้นว่าเป็นพินัยกรรมของตน ถ้าพินัยกรรมนั้นผู้ทำพินัยกรรมมิได้เขียนเองโดยตลอด ผู้ทำพินัยกรรมจะต้องแจ้งนามและภูมิลำเนาของผู้เขียนพินัยกรรมด้วย
- เมื่อกรมการอำเภอจดถ้อยคำของผู้ทำพินัยกรรม และวันเดือนปีที่นำพินัยกรรมมาแสดงไว้บนซองนั้นและประทับตราตำแหน่งแล้ว ให้กรมการอำเภอ ผู้ทำพินัยกรรมและพยานลงลายมือชื่อบนซองนั้น
การขูดลบ ตก เติมหรือการแก้ไขเปลี่ยนแปลง ผู้ทำต้องลงลายมือกำกับไว้จึงจะสมบูรณ์
5. พินัยกรรมแบบด้วยวาจา (มาตรา 1663)
- เมื่อผู้ทำพินัยกรรมไม่สามารถจะทำพินัยกรรมตามแบบอื่นที่กำหนดไว้ได้ เช่น ตกอยู่ในอันตรายใกล้ความตายหรือเวลามีโรคระบาด หรือสงคราม ผู้นั้นจะทำพินัยกรรมด้วยวาจาก็ได้ โดยต้องแสดงเจตนากำหนดข้อพินัยกรรมต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนซึ่งอยู่พร้อมกัน ณ ที่นั้น
- พยานสองคนนั้นต้องไปแสดงตนต่อกรมการอำเภอและแจ้งข้อความที่ผู้ทำพินัยกรรมได้สั่งไว้ด้วยวาจานั้น รวมทั้งแจ้งวัน เดือน ปี สถานที่ที่ทำพินัยกรรมและพฤติการณ์พิเศษนั้นไว้ด้วย
- กรมการอำเภอต้องจดข้อความที่พยานแจ้งนั้นไว้ และพยานทั้งสองคนต้องลงลายมือชื่อไว้ด้วย
บริษัทสำนักกฎหมายชมทรรศน์ สมบุตรจำกัด CHOMMATAT SOMBUT LAW OFFICE
โทร 086-558-9695 / 02-116-1310 / 02-161-0155 / E-mail: cmtlaw49@gmail.com ไอดีไลน์ @cmtlaw
ที่อยู่บริษัท 919/541 อาคารจิวเวลรี่ เทรด เซ็นเตอร์ ชั้น49 แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร 10500